ประวติความเป็นมาของบ้านท่าจำปานี้ ได้เค้าเรื่องมาจากหลายแหล่ง ทั้งที่เป็นเอกสารและบุคคล ซึ่งผู้เขียนได้ไปศึกษาค้นคว้า สอบถามจากผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านท่าจำปา คือ
- คุณลุงกัน สาป
- คุณลุงพัน วิเศษรัตน์
- คุณลุงสุริกา ก่ำซ้อน
ความเป็นมาเริ่มต้น
เมื่อปีมะโรง สัมฤทธิศก จุลศักราช 1170 พ.ศ.2351 ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จุฬาโลก รัชกาลที่ 1 มีชาติพันธุ์ไทเผ่าหนึ่ง เรียกว่า ไทญ้อ อยู่ที่เมืองหงสาวดีตอนเหนือของเมืองหลวงพระบาง ราชอาณาจักรลาวปัจจุบัน เมืองนี้ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำโขง ในครั้งนั้นมีหัวหน้าใหญ่ชื่อ“ท้าวหม้อ” มีภรรยาชื่อ สุนันทา ได้พาครอบครัว บ่าวไพร ประมาณ 100 คน ล่องแพมาตามลำน้ำโขง เนื่องจากถูกเนรเทศด้วยเหตุการเมือง เมื่อมาถึงนครเวียงจันทร์ ท้าวหม้อได้ขอเข้าสวามิภักดิ์พึ่งพระบรมสมภารเจ้านครเวียงจันทร์ เจ้าอนุวงศ์ ผู้ครองนครเวียงจันทร์ จึงอนุญาตให้พาครอบครัว สมัครพรรคพวกไปตั้งหลักฐานที่ปากน้ำสงคราม ซึ่งเป็นชัยภูมิที่เหมาะอุดมด้วยธัญญาหาร (ที่ให้ท้าวหม้อไปอยู่ไกล ก็เพราะต้องการให้อยู่ห่างๆ นครหลวงพระบาง คนถูกเนรเทศต้องให้อยู่ไกลๆ) เมื่อท้าวหม้อสร้างเมืองใหม่เรียบร้อยแล้ว เจ้าอนุวงศ์ผู้ครองนครเวียงจันทร์ เห็นว่า ท้าวหม้อเป็นหัวหน้าที่ดี จึงตั้งให้เป็น “พระยาหงสาวดี” เมืองที่ตั้งใหม่นี้อยู่ริมปากน้ำสงครามข้างเหนือ อยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ให้นามเมืองว่า“เมืองไชยสุทธิ์อุตตมบุรี”(ปัจจุบันเรียกตำบลไชยบุรี อยู่เหนืออำเภอท่าอุเทนไปประมาณ 16 กิโลเมตร) ได้ตั้งท้าวเล็กน้องชายท้าวหม้อเป็น อุปฮาดวังหน้าพระยาหงสาวดี (หม้อ) มีบุตรชายคนโตชื่อ “ท้าวโสม” เมื่อญาติพี่น้องบริวารของพระยาหงสาวดี (หม้อ) ทราบข่าวการเป็นเจ้าเมืองและความอุดมสมบูรณ์ จึงได้พากันอพยพตามลงมาอยู่กับพระยาหงสาวดี อีกประมาณ 500 คนในครั้งนี้ หลวงพ่อเป๊า ได้พาคนส่วนหนึ่งล่องเรือลงมาตามแม่น้ำโขงทางใต้ และได้ขึ้นตั้งบ้านเรือนที่ริมแม่น้ำโขง บริเวณทิศเหนือของบ้านท่าจำปา (ปัจจุบันเป็นทุ่งนามีต้นไม้และป่าไผ่ เรียกว่า “บ้านสิมเก่า”) ซึ่งในตอนนั้นบริเวณที่ตั้งบ้านยังคงสภาพเป็นป่าทึบ มีต้นไม้ใหญ่ และมีสัตว์ป่ามากมาย หลวงพ่อเป๊าจึงพาคนที่ติดตามตั้งบ้านเรือนที่นั้น ซึ่งมีประมาณ 5 – 6 ครัวเรือน ต่อมาก็ได้มีคนอพยพมาอยู่มากขึ้นทั้งจากคนไทยและคนฝั่งประเทศลาว ซึ่งชาวบ้านได้ยึดอาชีพเกษตรกรรมทำนา ทำไร่ ทำสวน และล่าสัตว์หาเลี้ยงชีพ และบริเวณใกล้หมู่บ้านนั้น มีหนองน้ำแห่งหนึ่งชื่อว่า “หนองพอก” ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่สัตว์ป่าทั้งหลายลงมากินน้ำเป็นประจำ ดังนั้น ชาวบ้านที่ยึดอาชีพเป็นพรานป่า จึงพากันมาดักสัตว์ป่าที่นี่และได้ทำสัญลักษณ์ ด้วยการบากต้นไม้ไว้ให้รู้ ต่อมาจึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านพรานบาก” และเพี้ยนเป็น “บ้านพันบัก” เพราะไทญ้อ พูดสำเนียงห้วน อักษร“ญ” ขึ้นนาสิก เสียงสระ“ใ”จะเป็นสระ “เออ” ทั้งหมด เช่นคำว่า “ใต้” เป็น“เต้อ” ใน เป็น “เนอ”ฯลฯ คล้ายสำเนียงชาวหลวงพระบาง ซึ่งผิดแผกไปจากชาวเมืองทั่วไป
แต่เดิมนั้น บ้านท่าจำปา บ้านคำพอก และบ้านท่าดอกแก้ว เป็นหมู่บ้านเดียวกัน หลังจากมีประชากร ขยายมากขึ้นเป็นลำดับนั้น ต่อมาเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้หมู่บ้าน ชาวบ้านจึงพากันย้ายบ้านไปตั้งอยู่แห่งใหม่ โดยแยกออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 ไปตั้งหมู่บ้านอยู่ทางทิศเหนือของบ้านเดิม เรียกว่า “บ้านพรานบักเหนือ” (บ้านท่าดอกแก้ว)
กลุ่มที่ 2 ไปตั้งบ้านอยู่ทางทิศตะวันตกของบ้านเดิม เรียกว่า “บ้านพันบักทุ่ง” (บ้านคำพอก)
กลุ่มที่ 3 ไปตั้งบ้านอยู่ทิศใต้ของบ้านเดิม เรียกว่า “บ้านพันบักท่า” (บ้านท่าจำปา)